เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [34. คันโธทกวรรค] 7. ติณกุฏิทายกเถราปทาน
7. ติณกุฏิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณกุฏิทายกเถระ
(พระติณกุฏิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[74] ข้าพเจ้าเป็นคนรับจ้างทำงานของผู้อื่น
ขวนขวายในการงานของผู้อื่น
อาศัยอาหารของผู้อื่นเลี้ยงชีพ อยู่ในกรุงพันธุมดี
[75] ในครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในที่เร้นแล้ว คิดอย่างนี้ว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
แต่การสร้างบุญกุศลของเรายังไม่มี
[76] บัดนี้ เป็นเวลาสมควรที่เราจะชำระคติ
ถึงเวลาของเราแล้ว การสัมผัสถูกต้องนรกเป็นทุกข์
แก่สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีบุญเป็นแน่แท้
[77] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้ว
จึงเข้าไปหาเจ้าของงาน
ขอหยุดงาน 1 วันแล้วเข้าไปยังป่าใหญ่
[78] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าขนหญ้า ไม้ และเถาวัลย์มาแล้ว
ตั้งไม้เป็น 3 เส้า ได้สร้างเป็นกุฎีหญ้า
[79] ข้าพเจ้าได้มอบถวายกุฎีนั้นเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์
แล้วกลับมาหาเจ้าของงานในวันนั้นนั่นเอง
[80] ด้วยกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
วิมานที่บุญกรรมเนรมิตสร้างไว้อย่างดี
เพื่อข้าพเจ้าในภพดาวดึงส์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :511 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [34. คันโธทกวรรค] 7. ติณกุฏิทายกเถราปทาน
[81] ปราสาท 100 ชั้น สูง 1,000 ชั่วลูกธนู
สะพรั่งไปด้วยธง พราวไปด้วยแก้วมณีสีเขียว
และป้อม 100,000 ป้อม
ปรากฏในวิมานของข้าพเจ้า1
[82] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ปราสาท(ดังจะ)
รู้ความดำริของข้าพเจ้าผุดขึ้น
[83] ความกลัว ความครั่นคร้าม หรือขนลุกชูชัน
ย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่รู้สึกสะดุ้งหวาดเสียวเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[84] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน
และเสือดาว ทั้งหมดก็ละเว้นข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[85] สัตว์เลื้อยคลาน ภูตผีปีศาจ งู กุมภัณฑ์
และผีเสื้อน้ำ แม้เหล่านั้น ก็ละเว้นข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[86] ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้ว่าจะได้เห็นความฝันอันชั่วช้า
สติของข้าพเจ้าตั้งมั่น
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[87] เพราะการถวายกุฎีหญ้านั้นแล
ข้าพเจ้าจึงได้เสวยสมบัติ
ได้กระทำให้แจ้งซึ่งธรรม
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.เถร.อ. 1/143/164, ขุ.ชา.อ. 4/41/67, มงฺคลตฺถ. 1/139/158

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :512 }